กองทุนและการบริจาค

  1. ความสำคัญของการบริจาค

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2484

    ถึงเหรัญญิกของธรรมสภาแห่งประเทศอเมริกาและแคนาดา ข่าวบาไฮ เลขที่ 144 หน้า 2-3)

    ด้วยความสำนึกถึงสถานภาพของเงินกองทุนแห่งชาติ และตระหนักดีถึงความเร่งด่วนของงานที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า น่าจะอุทิศเงินบริจาคของบาไฮศาสนิกชนอเมริกันให้แก่เงินกองทุนนานาชาติโดยด่วน เพื่อนำไปใช้ในงานเผยแพร่ศาสนาซึ่งกำลังเผชิญหน้า และท้าทายเพื่อนบาไฮศาสนิกชนทั้งหลายอยู่ในขณะนี้ ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจที่ท่านและสมาชิกท่านอื่น ๆ ช่วยกันบริจาคเงินในเดือนนี้ให้แก่ศูนย์กลางศาสนาบาไฮแห่งโลก ในขณะที่โครงการเจ็ดปีกำลังดำเนินอยู่ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะต้องเสนอให้มีการอุทิศเงินนี้ให้เป็นปัจจัยในการเผยแพร่ศาสนา ผลสำเร็จของงานนี้ขึ้นอยู่กับเงินบริจาค เมื่อคำนึงถึงขอบเขตอันกว้างใหญ่ของงานที่กำลังรอเราอยู่ข้างหน้าและพลังความสามารถที่พร้อมจะแปรเป็นผลงานออกมาประกอบกับคำสัญญาที่ว่า เราจะได้รับพระพรจากความเพียรพยายามนั้นในอนาคต ข้าพเจ้าใคร่ขอให้เพื่อนทั้งหลาย จงลุกขึ้นเพื่อทำการเสียสละให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้ และในท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่รุมล้อมเราอยู่ในขณะนี้ ขอให้เพื่อนบาไฮศาสนิกชนทั้งหลายจงพร้อมใจแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้มากขึ้น

    (จากจดหมายของท่านลงวันที่ 26 ตุลาคม 2484 ถึงเหรัญญิกของธรรมสภาแห่งประเทศอเมริกาและแคนาดา ข่าวบาไฮ เลขที่ 149 หน้า 2 )

    บาไฮศาสนิกชน ผู้ซึ่งไม่หวั่นไหวในความผันแปรไม่เกรงภยันตราย และความคับขันทางด้านการเงินซึ่งประเทศกำลังได้รับ ขอท่านทั้งหลายจงยืนหยัดขึ้น และให้คำรับรองว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ เพื่อจะได้มีเงินทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่กองทุนแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ ความสำเร็จของโครงการขึ้นอยู่กับเงินในกองทุนนี้เป็นสำคัญ

    ท่านศาสนภิบาล ใคร่ขอให้ท่านหยิบบกเรื่องความสำคัญของสถาบันเงินทุนบาไฮแห่งชาติมาอธิบายให้บาไฮศาสนิกชนเข้าใจ ในระยะแรกที่การพัฒนาการบริหารของศาสนาบาไฮกำลังเริ่มขึ้นนั้น เงินทุนนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะยังความเจริญก้าวหน้าแก่ศาสนกิจ นอกเหนือจากนี้ การบริจาคยังเป็นวิถีทางที่บาไฮศาสนิกชนสามารถนำไปใช้ทดสอบระดับและลักษณะความเชื่อถือของตน และใช้พิสูจน์กำลังความศรัทธา และความผูกพันที่เขามีต่อศาสนาด้วย

    เราต้องทำตัวเป็นประหนึ่งน้ำพุ ซึ่งปลดปล่อยน้ำที่มีอยู่ออกไปให้หมดสิ้น และในขณะเดียวกันก็ได้รับน้ำจากแห่ล่งที่มองไม่เห็นมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จงบริจาคให้เพื่อยังประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวาดกลัวความยากจน และมอบความไว้วางใจในพระกรุณาธิคุณ ซึ่งเป็นปฐมแห่งความมั่งคั่ง และคุณความดีทั้งปวง การให้ในลักษณะที่กล่าวมานี้ คือเคล็ดลับในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามของท่านศาสนภิบาล ลงพิมพ์ในหนังสือ ขั้นตอนปฏิบัติของบาไฮ BahaI Procedures 2485 หน้า 8-9)

    ไม่ขัดข้องที่ธรรมสภาท้องถิ่นอะดีเลด จะเก็บบันทึกรายชื่อผู้ที่บริจาคและจำนวนเงินที่ได้รับไว้แล้ว แต่จะต้องไม่บีบบังคับให้บาไฮศาสนิกชนบริจาค การบริจาคนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และควรเก็บรักษาเป็นความลับ เว้นเสียแต่ว่าผู้บริจาคประสงค์จะเปิดเผยเอง

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2488

    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    สำหรับคำถามของท่าน ท่านศาสนภิบาลเห็นว่าการวางกฎเกณฑ์สำหรับการบริจาคให้กองทุนบาไฮเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร การบริจาคนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวโดยสิ้นเชิง บาไฮศาสนิกชนทุกท่านต้องกระทำตามวิจารณญาณของตนเอง และคล้อยตามความต้องการของศาสนา เมื่อมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นกับศาสนาหรือกับครอบครัวของใครก็ตาม คนเรามักจะประพฤติตน แตกต่างไปจากเวลาที่เหตุการณ์ปกติ สำหรับการตัดสินใจในเรื่องนี้ ขอยกให้เป็นสิทธิส่วนตัวของบาไฮศาสนิกชนแต่ละรายไป

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2490
    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    สำหรับคำถามที่คุณยกขึ้นมานั้น ก่อนอื่นบาไฮศาสนิกชนทุกคนมีอิสระเสรีที่จะทำตามมโนสำนึกของตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะหรือรูปการณ์ที่เขาจะใช้จ่ายเงินส่วนตัวของเขาเอง ประการที่สองเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ในโลกนี้บาไฮศาสนิกชนมีจำนวนน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับจำนวนพลโลก และมีผู้คนเป็นจำนวนมากมายที่กำลังขัดสนยากจน จนกระทั่งถึงแม้ว่า เราทั้งหมดนี้จะบริจาคทุกสิ่งที่เรามีอยู่ก็ตาม การบริจาคนั้น จะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากได้เพียงส่วนเล็กน้องเท่านั้น กระนั้นก็ดีมิได้หมายความว่าเราจะไม่ช่วยผู้ที่ขัดสน เราควรจะช่วยเหลือเขา แต่การบริจาคให้แก่ศาสนานั้นเป็นวิธีที่บรรเทาความหิวโหยและความทุกข์ยากของมนุษย์ชาติอย่างได้ผลแน่นอนตลอดไป ระบบของพระบาฮาอุลลาห์ซึ่งตั้งขึ้นจากความประเสริฐเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ชาติสามารถยืนหยัดขึ้นด้วยลำแข้งของตนเอง ความขาดแคลน ความหวาดกลัว ความหิวโหย และสงครามต่างๆ เหล่านี้จะถูกขจัดให้หมดสิ้นไป ผู้ที่มิใช่บาไฮศาสนิกชนไม่สามารถบริจาคเพื่องานของบาไฮหรือทำงานแทนเราได้ ดังนั้นพันธะหน้าที่ของเราประการแรกก็คือ เราต้องช่วยกันสนับสนุนงานเผยแพร่พระธรรม เพราะด้วยธรรมนี้เองที่จะบำบัดรักษาความเจ็บไข้ของประเทศชาติต่างๆ

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามของท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2490
    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    สำหรับคำถามของท่านเกี่ยวกับเรื่องการบริจาค หากบาไฮศาสนิกชนประสงค์จะระบุประสงค์ให้ใช้เงินที่บริจาค เขาก็มีอิสระที่จะทำเช่นนั้นได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะตัดสินใจเอง แต่เพื่อนทั้งหลายควรจะยอมรับข้อเท็จจริงข้อหนึ่งว่าการที่จะเจาะจง วัตถุประสงค์ของการบริจาคมากเกินไป จะเป็นการผูกมัดมือของธรรมสภา และป้องกันมิให้ธรรมสภากระทำงานตอบสนองพันธะหน้าที่ในด้านต่างๆ ของศาสนกิจได้สะดวก

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามของท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2493
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศแคนาดา)

    สำหรับคำถามของคุณของตอบว่า เพื่อนบาไฮสามารถที่จะนำเงินบริจาคของตนมองให้แก่เหรัญญิก หรือมิฉะนั้นควรจะมีกล่องเตรียมไว้ รับบริจาคจากผู้ที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนาม ที่บริจาคเงินจำนวนเล็กน้อย ธรรมสภาส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องเช่นนี้ได้

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 29 กันยายน 2494
    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    ในจดหมายของท่านลงวันที่ 28 กันยายน 2469 ท่านได้พูดถึงเงินจำนวน……….ว่าได้นำเข้าใส่ไว้ใน………….ที่จัดสรรมาจากงบประมาณของธรรมสภาของท่านให้แก่ศูนย์กลางบาไฮแห่งโลก หลักการในเรื่องนี้มีดังนี้คือ ท่านศาสนภิบาลเห็นว่า ธรรมสภาของท่านนั้น เมื่อทำการแบ่งสรรงบประมาณประจำปี และได้ระบุว่าเงินจำนวนใดมีไว้สำหรับใช้จ่ายโดยศูนย์กลางบาไฮแห่งโลกแล้ว ก็ควรที่จะกันเงินจำนวนนั้นไว้ทันที เพื่อให้เป็นส่วนที่ท่านศาสนภิบาลสั่งจ่าย เงินใดๆ ก็ตามที่ได้รับบริจาคมาจากบาไฮศาสนิกชนเพื่อมองให้แก่ศูนย์กลางบาไฮแห่งโลกไม่ควรจะนำมาเข้าบัญชีนี้ ซึ่งเป็นบัญชีร่วมของการบริจาคให้แก่ธรรมสภาแห่งชาติและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริจาคเป็นรายบุคคลในท้องถิ่นที่ส่งมอบให้แก่ศูนย์กลางบาไฮแห่งโลกโดยส่งผ่านธรรมสภาของท่าน

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2497
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

    ท่านศาสนภิบาลมีความเห็นว่า ในเมื่อขณะนี้ธรรมสภาแห่งชาติก็ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่แล้ว โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองกัมปาลา ธรรมสภาจึงควรที่เปิดบัญชีธนาคารของตนเองขึ้น เมื่อเปิดบัญชีขึ้นแล้ว เงินบริจาคที่ท่านได้รับมาเพื่อการสร้างโบสถ์ที่กัมปาลา ก็ควรจะนำมาเข้าบัญชีของโบสถ์ โดยให้โบสถ์จัดการระเบียบนี้ใช้ได้มิเพียงแต่จำนวนเงินก้อนใหญ่ที่ท่าน……ได้บริจาคมาเท่านั้น แต่ใช้ได้กับเงินบริจาคที่ท่านได้รับมาแล้วแต่ก่อนๆ และกับเงินบริจาคที่ท่านจะได้รับต่อไปภายหน้า

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2499
    ถึงบาไฮศานิกชนท่านหนึ่ง)

    ในรายงานการประชุมของธรรมสภาบาไฮแห่งชาติประจำเดือนพฤศจิกายน หน้า 28 ท่านศาสนภิบาลได้สังเกตเห็นว่า ธรรมสภามีแผนการที่จะทำการบริจาคเงินจำนวน…… ….เหรียญสหรัฐให้แก่ธรรมสภาแห่งประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพื่อให้ในการสร้างโบสถ์ ท่านศาสนภิบาลใคร่ที่จะทราบว่าเงินบริจาคจำนวนนี้ เป็นเงินที่คุณคอลลินส์ได้บริจาคให้มาเพื่อการนี้หรือไม่ หรือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่งที่ให้มาจากเงินทุนของธรรมสภา ถ้าหากเป็นการบริจาคของคุณคอลลินส์ ธรรมสภาของท่านก็ควรส่งผ่านเงินจำนวนนี้ให้แก่ธรรมสภาประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยระบุว่าคุณคอลลินส์เป็นผู้บริจาค

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2499
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

    สถาบันของเงินกองทุนแห่งชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าอย่างราบรื่น ไม่มีการหยุดชะงักของกิจกรรมเหล่านี้ จะต้องได้รับการให้คำมั่นว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มอกเต็มใจและทวีมากขึ้นอยู่เสมอ โดยกว้างขวางจากกลุ่มของบาไฮศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งกิจกรรมอันเป็นคุณประโยชน์เหล่านี้ได้ริเริ่ม และดำเนินไปเพื่อสวัสดิการ และในนามของท่านเหล่านี้ บาไฮทั้งหมดทุกคนไม่ว่าจะมีทุนทรัพย์เล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ต้องให้ความร่วมมือด้วยกันทุกคน

    (จากจดหมายลงวันที่ 8 สิงหาคม 2500
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศอาฟริกากลางและตะวันออก)

  1. ความรับผิดชอบของธรรมสภาในการจัดการกองทุนบาไฮ
    ปัญหาเรื่องการเงินที่กำลังเผชิญอยู่นี้เป็นเรื่องคับขันและสำคัญทั้งสิ้น การเงินของบาไฮต้องการฝ่ายบริหารที่มีวิจารณญาณถูกต้องและมีนโยบายที่สุขุม เราควรจะศึกษาความต้องการของศาสนา แสวงหาอาณาบริเวณแห่งการรับใช้เงินที่จะให้ผลลัพธ์มากที่สุด แล้วจึงจัดสรรงบประมาณเท่าที่จำเป็น งานเช่นนี้เป็นงานที่ยากที่สุด และต้องรับผิดชอบมากที่สุดด้วย

    (ปัจฉิมลิขิตด้วยลายมือของท่านเอง ในจดหมายถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอมริกา และแคนาดา ข่าวสารบาไฮ ฉบับเดือนเมษายน เลขที่ 40 หน้า 17)

    สำหรับเรื่องการบริจาคให้เพ่อสมทบทุนเผยแพร่ศาสนาของท่านศาสนภิบาลนั้น ท่านเห็นว่าควรปล่อยให้เรื่องนี้อยู่ในดุลยพินิจของธรรมสภาแห่งชาติเท่านั้น ท่านศาสนภิบาลเชื่อว่า ปัจจุบันนี้เงินจำนวนมากที่จ่ายให้เป็นค่าเดินทางสำหรับอาสาสมัครที่ขัดสนตลอดมานั้นตกเป็นภาระหนักของกองทุนธรรมสภาแห่งชาติ ควรมีการจัดอำนวยงานขยายขอบเขตงานเผยแพร่ศาสนาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยการช่วยเหลือบาไฮศาสนิกชนที่ขาดแคลนค่าเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง และเมื่อเขาไปถึงจุดหมายแล้วจึงค่อยสนับสนุนให้เขาตั้งหลักแหล่ง และหาเลี้ยงชีพต่อไป

    (จากจดหมายเขียนในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2479
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ข่าวบาไฮ เลขที่ 105 หน้า 1)

    เกี่ยวกับคำถามของท่านเรื่องเงินทุนของธรรมสภาแห่งชาตินั้น ไม่มีข้อห้ามระบุไว้ในประกาศตั้งธรรมสภา หรือในตราสารมิให้ธรรมสภาจัดแบ่งสรรเงินทุนใดๆ ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่กำลังยากจนขัดสนที่สุด แต่ก็ควรจะย้ำให้เพื่อนบาไฮศาสนิกชนเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ผลประโยชน์และความต้องการของศาสนาในประเทศมีความสำคัญเหนือกว่าความต้องการส่วนตั้งของบาไฮศาสนิกชนแต่ละราย ธรรมสภาบาไฮแห่งชาติมีหน้าที่ใช้เงินกองทุนนั้นเสริมสร้างประโยชน์ให้แก่ศาสนาในประเทศ อย่าให้ผลประโยชน์อันไม่ยืนนานของบาไฮศาสนิกชนเมื่อเทียบกับประโยชน์อันเป็นนิรันดร์ของศาสนาของพระผู้เป็นเจ้ายังความเสียหายให้แก่ศาสนา ยกเว้นในกรณีพิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย คือเมื่อบาไฮศาสนิกชนสิ้นหนทางหาปัจจัยทางวัตถุเพื่อดำรงชีพ ในกรณีเช่นนี้ ธรรมสภาบาไฮแห่งชาติอาจใช้เงินกองทุนแห่งชาติบริจาคช่วยเหลือบุคคลนั้น หรือธรรมสภาบาไฮแห่งชาติอาจจะประกาศขอรับบริจาคเป็นพิเศษจากพื่อนบาไฮศาสนิกชนเพื่อมอบให้แก่บาไฮศาสนิกชนผู้นั้นก็ได้ ตามหลักแล้ว เป็นหน้าที่ของครอบครัว ชุมชน หรือธรรมสภาบาไฮในท้องถิ่นที่จะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือบุคคลที่สังกัดในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลในครอบครัว ในชุมชนหรือธรรมสภาบาไฮส่วนท้องถิ่นไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะช่วยเหลือได้ ธรรมสภาบาไฮแห่งชาติอาจนำปัญหาของบาไฮศาสนิกชนรายนั้นมาพิจารณาดูความเดือดร้อน ความเร่งด่วน และความเป็นธรรม และจัดสรรเงินบางส่วนให้ใช้บรรเทาทุกข์ได้

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2480
    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    ท่านศาสนภิบาลได้แต่เพียงวางแนวทางให้ท่านได้ดังนี้คือ ไม่ควรนำเงินทุนของบาไฮไปใช้ในการก่อสร้างอาคารในสถานที่ซึ่งมีบาไฮศาสนิกชนเป็นส่วนน้อยบางท่านอาศัยอยู่ มิได้เป็นประโยชน์แก่ศาสนิกชนส่วนรวม

    คำชี้แจงของท่านศาสนภิบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ เมื่อธรรมสภาบาไฮแห่งชาติทั้งหลายจะจัดสร้างสถาบันแห่งชาติควรจะใช้วิจารญาณที่ถูกต้อง เพราะว่าการก่อตั้งนั้นจำเป็นต้องลงทุน ควรดำเนินการเมื่อเห็นว่ามีเหตุผลมาควร

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2495
    ถึงศาสนสภาแห่งประเทศแคนาดา)

    ท่านศาสนภิบาลใคร่ขอเรียนต่อธรรมสภาของท่านว่า ให้ธรรมสภาของท่านช่วยเร่งงานสร้างโบสถ์ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด นอกเหนือจากนั้นขอให้ธรรมสภาของท่านควบคุมการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด และเหนี่ยวรั้งสถาปนิกมิให้มีความคิดออกแบบที่ต้องใช้เงินเกินสมควร พระสถูปและพิพิธภัณฑ์ของบาไฮที่ศูนย์กลางแห่งโลกนั้น ท่านศาสนภิบาลได้สร้างขึ้นด้วยความประหยัดอย่างสุขุม ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก คัดเอาแต่ส่วนที่จำเป็น และดำเนินการควบคุมอย่างรอบคอบ สวนประดับรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันงดงามตระการตาผู้พบเห็นนั้น ที่จริงแล้วเป็นผลงานการออกแบบที่ประหยัดที่สุดแล้วนั่นเอง ถ้าความคิดการสร้างโบสถ์ของเราเป็นไปตามแนวนี้ ย่อมเชื่อได้ว่า ไม่เพียงแต่ค่าก่อสร้างจะอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้แล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างอันน่ายกย่องสำหรับบาไฮศาสนิกชนชาวอัฟริกาจะปฏิบัติตามอีกด้วย บาไฮศาสนิกชนชาวอัฟริกาต้องไม่หลงเข้าใจว่าบาไฮศาสนิกชนทั้งโลกจะช่วยกันสร้างโบสถ์ในกลางใจเมืองให้พวกเขา ต้องไม่เข้าใจผิดคิดว่าจะมีเงินทุนโดยไม่จำกัด หลั่งไหลมาจากนอกประเทศเพื่อช่วยดำเนินศาสนกิจของพวกเขา ยิ่งถ้าบาไฮศาสนิกชนชาวอัฟริกันได้เห็นวิธีการดำเนินงานสร้างโบสถ์อย่างประหยัด และด้วยความเฉลียวฉลาดรอบคอบมากขึ้นเพียงใด เขาก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนมีส่วนรับผิดชอบช่วยเหลือ ทางด้านการเงินมาขึ้นเพียงนั้น การที่เขาเหล่านั้นมีทรัพยากรเล็กน้อยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระวังมากและท่านศาสนภิบาลก็ได้แจ้งให้ธรรมสภาของท่านทราบแล้วว่าไม่ควรกำหนดให้ชุมชนที่ยังอ่อนแอเช่นนี้ต้องรับผิดชอบศาสนกิจที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะจะทำให้เกิดความท้อแท้ใจตั้งแต่แรก หรือมิฉะนั้นก็เป็นแนวจูงใจให้เขาเชื่อว่า เงินที่จะใช้นั้นได้มาจากต่างประเทศ เหมือนกับหน่วยศาสนาอื่น ๆ

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2500
    ถึงธรรมสภาแห่งอาฟริกากลางและตะวันออก)wn text

  1. ใครคือผู้ที่จะบริจาคให้แก่เงินกองทุนบาไฮได้

    ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สินค้าทุกชนิดที่บาไฮศาสนิกชนเป็นเจ้าของ ทั้งที่ผลิตโดยบาไฮศาสนิกชนหรือโดยผู้ที่มิได้เป็นบาไฮก็ตาม สามารถนำออกจำหน่ายเป็นรายได้สำหรับสร้างโบสถ์หรือสถาบันอื่น ๆ ของบาไฮได้ ข้อปฏิบัติดังกล่าวยังคงดำรงรักษาไว้ซึ่งหลักการทั่วไปที่ว่า ศาสนาบาไฮไม่รับเงิน บริจาคบำรุงสถาบันของศาสนาซึ่งมีลักษณะจำกัดเฉพาะตัวจากผู้ที่มิใช่เป็นบาไฮทั้งโดยตรงหรือทางอ้อม สำหรับวิธีการที่จะจำหน่ายทรัพย์สินของบาไฮศาสนิกชนเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์นี้ และลู่ทางที่จะทำการจำหน่ายได้สำเร็จนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ควรวางกฎลงไปตายตัว บาไฮศาสนิกชนแต่ละท่านสามารถขอให้บุคคลอื่น หรือจากธรรมสภาเป็นตัวกลางในการซื้อขายทรัพย์สินนั้นได้ เราควรหลีกเลี่ยงความสับสน และในอีกแง่หนึ่ง ก็ควรรักษาประสิทธิภาพในการปฏิบัติการไว้ ไม่ควรวางข้อจำกัดโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพราะจะกลายเป็นสิ่งผูกมัดความคิดริเริ่มและธุรกิจส่วนตัวของบาไฮศาสนิกชน

    (จากจดหมายลงวันที่ 4 มกราคม 2472 ถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
    ข่าวบาไฮ เลขที่ 31 หน้า 3)

    ในกรณีบริจาคของนางสาว……………ให้แก่เงินกองทุนนี้ ท่านโชกิ เอฟเฟนดิ ใคร่ขอให้ท่านชี้แจงให้นางสาว………..ทราบชัดเจนว่า เธอควรมอบเงินบริจาคคืนให้แก่กองทุนบาไฮ มิใช่ให้แก่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใด นี่คือหลักเกณฑ์สำคัญที่ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่ผลิตสิ่งพิมพ์ และสำนักพิมพ์จำหน่ายของบาไฮด้วย จึงขอให้ท่านโปรดย้ำให้เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อว่าจะได้ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้นในอนาคต เป็นการแน่นอนที่ว่าควรรับบริจาคจากบาไฮศาสนิกชนเท่านั้น ดังนั้น ท่านจึงควรสอบถามให้แน่นอนเสียก่อนว่า นางสาว………..ผู้นี้ เป็นบาไฮศาสนิกชนที่แท้จริงหรือไม่ เมื่อทราบแน่นอนแล้ว จึงค่อยรับเงินบริจาคไว้เป็นเงินทุนสำหรับพิมพ์หนังสือ

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 14 เมษายน 2477
    ถึงบาไฮศาสนิกชนท่านหนึ่ง)

    ปัญหาที่คุณหยิบยกขึ้นมาถาม เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะผู้แทนที่เข้าประชุมใหญ่ในปีนี้ให้มีการติดตั้งเครื่องส่งวิทยุขึ้นในโบสถ์ เรื่องนี้เกี่ยวข้องอยู่กับหลักการขั้นมูลฐานของเรื่องเงินทุนของโบสถ์ ซึ่งท่านศานภิบาลได้อธิบายไว้แล้วในจดหมายหลายฉบับ ท่านขอให้ข้าพเจ้าช่วยอธิบายย้ำอีกว่า ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตามที่บาไฮศาสนิกชนไม่ควรจะรับเงินบริจาคช่วยเหลือกจากผู้มิใช่บาไฮศาสนิกชนเพื่อนำมาใช้จ่ายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมฝ่ายบริหารต่าง ๆ โดยเฉพาะของศาสนาบาไฮ เป็นต้นว่าในเงินทุนการก่อสร้างโบสถ์ หรือในเงินทุนของการบริหารของธรรมสภาท้องถิ่นหรือระดับชาติ เหตุผลสำหรับหลักการนี้มีอยู่สองประการ คือหนึ่งเพราะว่าสถาบันต่าง ๆที่บาไฮศาสนิกชนกำลังค่อย ๆ ก่อสร้างขึ้นนี้ อยู่ในสภาพเป็นของขวัญที่พระบาฮาอุลลาห์มอบให้แก่โลกและประการที่สอง การยอมรับเงินบริจาคจากผู้ที่มิใช่บาไฮศาสนิกชนเพื่อนำมาใช้ในศาสนกิจของบาไฮนั้น ไม่ช้าก็เร็ว จะก่อให้บาไฮศาสนิกชนเกิดความยุ่งยาก และมีปัญหากับบุคคลอื่นๆ อย่างคาดคิดไม่ถึงมาก่อน และส่งผลอันตรายแก่ศาสนาอย่างประมาณมิได้

    (จากจดหมายเขียนในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2481
    ถึงบาไฮศานิกชนท่านหนึ่ง)

    ท่านอาจจะไม่ทราบว่า ในเรื่องเกี่ยวกับธรรมสภาแห่งชาติต่างๆ นั้น ท่านศาสนภิบาลกำลังให้คำแนะนำไปว่า ระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ควรจะเพิ่มมีมากขึ้นและแถลงการณ์ใหม่ๆ เกี่ยวกับ ลำดับขั้นตอนปฏิบัติ ไม่ควรจะยืดหยุ่นได้ในรายละเอียด แต่เคร่งครัดในหลักการต่างๆ โดยเหตุดังนี้ท่านศาสนภิบาลจึงไม่ประสงค์ให้ธรรมสภาของท่านออกแถลงการณ์ต่างๆ ที่จะเป็นการผูกมัดนอกจากในกรณีจำเป็นจริงๆ ในเรื่องนี้ท่านจะตอบคำถามของท่านเกี่ยวกับเรื่องบทลงโทษต่างๆ ดังนี้คือ สำหรับย่อหน้าที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ใน จม.ลงวันที่ 4 มีนาคม ท่านไม่มีอะไรขัดข้อง สำหรับย่อหน้าที่ 3 ยังไม่ถูกต้องนัก ที่ถูกต้องก็คือ ห้ามบาไฮศาสนิกชนคบค้าสมาคมกับบุคคลที่ท่านศาสนภิบาลตัดออกจากศาสนา มิได้ห้ามคบหากับผู้ที่ถูกริบสิทธิเลือกตั้ง และโดยที่เงินบริจาคแก่กองทุนบาไฮนั้นถูกนำไปใช้สอยทางด้านบริหารศาสนกิจ จึงไม่เป็นการสมควรที่จะรับเงินบริจาคจากผู้ที่ถูกริบสิทธิเลือกตั้งนั้น แต่การลงโทษนี้มิได้หมายความว่า จะกีดกันมิให้ฝังบาไฮศาสนิกชนคนนั้นในสุสานบาไฮ หรือมิให้เขาได้รับความช่วยเหลือซึ่งเป็นทานที่ศาสนามอบให้แม้แต่กับผู้ที่มิใช่บาไฮศาสนิกชนอยู่แล้ว

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2486

    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศอินเดีย)

    บาไฮศาสนิกชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก สามารถบริจาคให้แก่กองทุนของศาสนาได้ เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา เด็กบาไฮทุกแห่งหนต่างบริจาคให้ศาสนาเสมอ เป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนซึ่งมีเด็กที่มิใช่บาไฮร่วมเรียนอยู่ด้วย ไม่มีกฎเกณฑ์ใช้ในเรื่องนี้

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2492
    ถึงะรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

    สำหรับมรดกที่นาย……………………มอบให้แก่โบสถ์นั้นธรรมสภาของท่านควรจะแจ้งให้ภรรยาหม้ายของท่านผู้นั้นทราบว่า เนื่องจากว่าท่านผู้นั้นมิใช่บาไฮศาสนิกชน เราจึงไม่สามารถใช้เงินนั้นในศาสนกิจของบาไฮได้ เพราะศาสนาและสถาบันของศาสนาบาไฮคือของขวัญที่ให้เปล่าแก่มนุษย์ชาติ อย่างไรก็ดี ธรรมสภาของท่านควรจะรับเอาไว้เพื่อทำการกุศลในนามของท่านผู้นั้น

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2493
    ถึงธรรมสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ข่าวบาไฮ เลขที่ 256 หน้า 2)

    สำหรับคำถามเกี่ยวกับโรงเรียนบาไฮในประเทศอินเดีย เนื่องจากว่าบาไฮศาสนิกชนเป็นผู้ดำเนินการโรงเรียนนี้เพื่อประโยชน์สำหรับบุตรหลานของผู้ที่เป็นบาไฮ และที่มิใช่บาไฮ ดังนั้นท่านศาสนภิบาลจึงไม่เห็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าโรงเรียนไม่ควรเก็บเงินค่าชมคอนเสิร์ต และนำรายได้จากการแสดงนี้ไปใช้ในกิจการของโรงเรียน การแสดงนี้ไม่เหมือนกับงานออกร้าน ซึ่งรายได้ที่ได้รับนั้นสมทบเป็นทุนบาไฮทั้งหมด

    (จากจดหมายเขียนขึ้นในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2495
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)

    สำหรับปัญหาเรื่องการรับเงินบริจาคจากผู้ที่ถูกริบสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้วนั้น ท่านศาสนภิบาลกล่าวว่า ไม่อนุญาตให้รับ

    (จากจดหมายเขียนในนามท่านศาสนภิบาล ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2496
    ถึงธรรมสภาแห่งประเทศอินเดีย)

    ขอขอบคุณสำหรับรายงานที่ท่านได้แนบไปพร้อมกับจดหมายเกี่ยวกับเรื่องเงินทุน ท่านศาสนภิบาลใคร่ขอตอบคำถามของท่านเรื่อง ทุนทรัสต์ของ………..ดังนี้ คือ เราไม่สามารถรับเงินจากผู้ที่มิใช่บาไฮมาใช้ในศาสนกิจได้ หากครอบครัวของ…….ประสงค์จะบริจาคเงินจำนวนนี้เป็นกุศลสำหรับ…………ผู้ล่วงลับไปแล้ว (ความคิดเช่นนี้ควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง) ครอบครัวของ……….ก็ควรจะจัดการให้ทุนทรัสต์ส่วนนี้เป็นสมบัติในนามของ……………ในระหว่างที่เขายังมีชิวตอยู่เสียก่อน มิฉะนั้นศาสนาบาไฮก็จะทำได้เพียงแค่รับเงินบริจาคนี้ไว้ เพื่อทำทานให้แก่ทั้งบาไฮศาสนิกชน และผู้ที่มิใช่บาไฮ

    (จากจดหมายเขียนในนามท่านศานภิบาล ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2499)