วิทยาศาสตร์และศาสนา

ศาสนาบาไฮปฏิเสธความคิดความเชื่อที่ว่า วิทยาศาสตร์และศาสนาในเนื้อแท้มีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ความเชื่อนี้ได้รับการแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนในสมัยที่ความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และศาสนายังไม่แตกฉานลึกซึ้ง ความสัมพันธ์สอดคล้องกันของศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของศาสนาบาไฮที่สอนว่า ศาสนาที่ขาดหลักวิทยาศาสตร์ไม่ช้าก็จะเสื่อมลงกลายเป็นความเชื่ออันงมงายและความคลั่งไคล้อย่างสุดขั้ว ขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์ที่ขาดหลักศาสนาก็จะตกเป็นเพียงเครื่องมือของวัตถุนิยมอันบ้าคลั่ง

คัมภีร์ศาสนาบาไฮอธิบายไว้ว่า ศาสนาเป็นดั่งรูปลักษณ์ที่สะท้อนโลกของสัจธรรม ดัวยเหตุนี้ศาสนาจึงเปี่ยมไปด้วยชีวิต มีพลัง มีการเคลื่อนไหว มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นเป็นรัศมีหรือพรประการแรกที่พระผู้เป็นเจ้าประทานลงมายังมนุษย์ สรรพสิ่งทั้งปวงที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นมาล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์แบบทางวัตถุ หากแต่พลังของการใช้สติปัญญาค้นหาความจริงและทักษะทางวิทยาศาสตร์เป็นความสามารถอีกขั้นหนึ่งที่มีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขาดศักยภาพพิเศษนี้

เมื่อพิจารณาดูสรรพสิ่งในโลกจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ นานาประการของศาสนาเป็นเรื่องของศีลธรรม พระธรรมคำสั่งสอน รวมทั้งตัวอย่างการใช้ชีวิตของหลากหลายบุคคลที่ปฏิบัติตามธรรม ส่งผลให้มวลชนจากทุกถิ่นทุกอายุได้เรียนรู้ที่จะรักใคร่อาทร รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น รู้จักให้อภัย มีความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม โครงสร้างทางสังคมและระบบของสถาบันต่างๆ จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อแปลงความก้าวหน้าทางศีลธรรมเหล่านี้มาเป็นบรรทัดฐานทางสังคม เราสรุปได้ว่าพลังผลักดันทางจิตวิญญาณที่ถือกำเนิดมาจากศาสดาของศาสนาต่างๆ ผู้เปรียบเสมือนภาพสะท้อนอันสมบูรณ์แบบของพระผู้เป็นเจ้านับเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขัดเกลาคุณลักษณะของมนุษย์ให้มีศีลธรรมอันดีงาม

พระอับดุลบาฮาทรงนิยามวิทยาศาสตร์ว่าเป็นคุณสมบัติที่สูงส่งที่สุดของมนุษย์ และเป็นผู้เบิกทางค้นพบทุกสิ่ง วิทยาศาสตร์ช่วยให้สังคมสามารถแยกข้อเท็จจริงออกจากจินตนาการคาดเดา ยิ่งไปกว่านั้น ทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์ซึ่งประกอบไปด้วย การเฝ้าสังเกต การประเมิน และการทดสอบสมมติฐานอย่างเข้มงวด แม่นยำ ช่วยให้มนุษยชาติเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงกฎและกระบวนการต่างๆ ที่ควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลก รวมทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ และวิถีชีวิตของสังคม

วิทยาศาสตร์และศาสนาเมื่ออยู่คู่กันจะเป็นหลักจัดการพื้นฐานที่อำนวยให้ปัจเจกบุคคล ชุมชน และสถาบันต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์และเจริญสืบต่อไป เมื่อเรามองดูวิถีชุมชนทั้งทางวัตถุและจิตวิญญาณและให้ความสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และทางศาสนาอย่างได้สมดุลย์ เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่มองการพัฒนาของมนุษย์เป็นเพียงแค่การบริโภคสินค้าบริการและเทคโนโลยีได้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้สมาชิกในชุมชนสามารถวิเคราะห์ผลกระทบทางกายภาพและผลกระทบทางสังคมจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ เช่น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันความรู้ความเข้าใจทางศาสนาก็จะช่วยสร้างเสริมมาตรฐานทางศีลธรรมที่จะจรรโลงความสมดุลย์ในสังคมและเป็นเครื่องรับรองว่าเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ความรู้จากทั้งสองแหล่งนี้เมื่อนำมาคู่กันจะเป็นส่วนสำคัญที่จะปลดปล่อยปัจเจกบุคคลและชุมชนให้เป็นอิสระจากพันธนาการของความโง่เขลาและความเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น สองสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าของอารยธรรมโลก

ย้อนกลับ

ความเชื่อมโยงกันของจิตวิญญาณและวัตถุ